วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ฝูงบินขับไล่รักษาพระนคร


ฝูงบินขับไล่รักษาพระนคร โดย นายทองแดง
                ผมกำลังเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ เรื่องสมัย สงครามมหาเอเชียบูรพา นั่นแหละ ความจริงฝูงบินรักษาพระนครที่เขาพูดกันนั้น ไม่ใช่ฝูงบินที่ทางราชการกำหนดตั้งขึ้นแต่ประการใดไม่ว่าจะเป็นยามปกติหรืออัตราสนาม ชาวบ้านเรียกกันเอง *
                การที่ผมเอาเรื่องเมื่อ 30 ปีกว่า มาเล่าสู่กันฟังย่อมเป็นของธรรมดา ยศ-นาม ผู้ที่กล่าวถึงตลอดจนวันเกิดเหตุการณ์อาจคาดเคลื่อนไปบ้างจึงขออภัยไว้ล่วงหน้าด้วย หากผู้ใดจะท้วงติงจะเป็นพระคุณยิ่ง *1          
อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เมื่อ 8 ธันวาคม 2484 ประเทศไทยถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกจนตั้งตัวไม่ติด จอบพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น จำยอมให้การสนับสนุน และร่วมรบกับกองทัพญี่ปุ่น โดยประกาศสงครามกับ บริเตนใหญ่ และ สหรัฐอเมริกา เมื่อ 25 มกราคม 2485 ทำให้รอดพ้นจากการยึดครองจากกองทัพญี่ปุ่น
                ปฎิบัติการสนับสนุนต่อกองทัพญี่ปุ่น ท่านคงทราบจากเรื่อง อนุทิน ผบ.บญ.ผสม ถาคพายัพซึ่งได้ตีพิมพ์ในหนังสือข่าวทหารอากาศ ประจำปี 2516 ติดต่อกันหลายตอนแล้ว *2
ต้นปี 2485 กองทัพอากาศได้ซื้อเครื่องบินขับไล่จากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 12 เครื่อง คือ เครื่องบิน คิวนานา หรือ บางคนเรียกว่า โอตะบางคนเรียกเสียเต็มว่า คิวนานาเซ็นโตกิ *3 (เซ็นโตกิแปลว่าเครื่องบินขับไล่) ทางราชการขึ้นทะเบียนว่าเครื่องบินแบบ 15 (ปัจจุบันเรียก บข.12) ส่งไปประจำการที่ บน.ผสม 85 จังหวัดลำปาง ตั้งชื่อฝูงบินตามแบบเครื่องบิน คือ ฝูงบินที่ 15 โดยมี รอ.ประคอง บีณฑะบุตร เป็นผู้บังคับฝูง
                เครื่องบินแบบ 15 นี้เป็นเครื่องบินขับไล่ปีกชั้นเดียว ปีกและลำตัวทำด้วยโลหะพับฐานไม่ได้ (ขาแข็ง) การบังคับต่างๆบังคับโดยตรงไม่มีการยุ่งยาก โอกาศขัดข้องเสียหายมีน้อย ติดปืนกลอากาศขนาด 7.7 มม. สองกระบอก บินผาดแผลงได้คล่องแคล่วว่องไว จึงได้รับการขนานนามว่า นกกระจอก *4 เจ้านกกระจอก ปฎิบัติการที่ลำปางได้ ปีเศษได้รับคำสั่งย้ายมาประจำ บน.ผสมที่ 95 (ดอนเมือง) และเรียกเต็มที่ว่า บน.95 ฝูง 15 เพื่อทำหน้าที่รักษาพระนคร เนื่องจากกลางปี 2486 กรุงเทพมหานครถูกเครื่องบินข้าศึก บี 24 (B-42) เข้ามาทิ้งระเบิดในเวลากลางคืนบ่อยครั้ง การต่อต้าน และ ป้องกันในขนะนั้นมีแต่ไฟฉาย และ ปตอ. ของทหารบกไปตั้งไว้ตามจุดต่างๆ เช่น ที่เกียกาย สวนลุมพินี และ ปลายถนนพรานนก (เรียกตรงนั้นว่า สามแยกไฟฉายจนทุกวันนี้) ซึ่งไม่สามารถขัดขวางการทิ้งระเบิดของข้าศึกประการใด บี 24 เข้ามาทิ้งระเบิด แล้วบินกลับไปโดยปลอดภัยทุกที
                เดือนกันยายน 2486 เครื่องบินแบบ 15 พร้อมด้วย นักบิน และ เจ้าหน้าที่อื่นๆ เข้าที่ตั้ง ณ บน. 95 ฝูง 15 เป็นที่เรียบร้อย โดยมี รอ. โชติ ชินะศิริ เป็นผู้บังคับฝูง นักบินเท่าที่จำได้ ได้แก่ รอ.ไสว คชวัฒน์ รท. เทิดศักดิ์ วรทรัพย์ รต.โสรส ชมภูทีป รต.หิรัญ ศิริพรรค จอ. ผคอง อายนะบุตร์ และ จอ. สง่า เฉลียวพจน์ ส่วนผู้บังคับหมวดช่าง คือ ศิลป์ โพธิแพทย์
                รายนามผู้ที่กล่าวมานี้อย่างน้อย 5 นายเป็นผู้ที่เปลี่ยนชื่อใหม่ ไม่ใช่เพื่อการพรางข้าศึกประการใดไม่ แต่จพต้องเปลี่ยนตามนโยบายของรัฐบาล สมัยนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมไทย หลายย่างเช่น ให้ทุกคนสวมหมวก เลิกกินหมากพลู ห้ามนุ่งผ้าจูงกระเบน ผัวเมียควรกอดจูบกันเวาลจากกันไปทำงาน หรือ ขึ้นรถไฟเป็นต้น ชื่อบุคคลต่างๆควรมีความหมายตามเพศ รัฐบาลจึงมีประกาศ สำนัก นายกรัฐมนตรี เรื่องชื่อบุคคล โดยวางเกณฑ์ว่า ชื่อบุคคลต้อมมีความหมายให้รู้ว่าเป็น ชาย หรือ หญิง การเปลี่ยนชื่อครั้งประวัติศาสตร์จึงได้เกิดขึ้นในครั้งนั้น
                บริเวณสนามบินดอนเมืองขณะนั้น ทหารไทยกับทหารญี่ปุ่น แบ่งกันอยู่คนละฝั่ง ฝั่งตะวันออกทั้งหมด เป็นที่ตั้ง หน่วยบิน โรงซ่อมอุปกรณ์ หน่วยส่งกำลังบำรุงตลอดจนบ้านพักอาศัยของฝ่ายญี่ปุ่น หน่วยต่างๆของทหารไทยทั้งหมดอยู่ทางฝั่งตะวันตก คือแบ่งกันอยู่คนละครึ่งสนามบิน หน้าที่ หรือ ภารกิจหลักของฝูง 15 คือบินรักษาเขต และ บินสกัดกั้น เครื่องบินข้าศึกที่เข้ามาทิ้งระเบิด กรุงเทพมหานคร การบินรักษาเขตต้องปฎิบัติประจำวัน และ กระทำในเวลากลางวันเท่านั้น ขอบเขตปฎิบัติการ ออกไปสังเกตการณ์บริเวณจังหวัดชายแดนติดต่อกับประเทศพม่าตอนใต้ ในการบินรักษาเขตนี้เครื่องบินต้อง ลงนอกสนามหนึ่งครั้ง รต. หิรัญ ศิริพรรค เป็นนักบิน เครื่องยนต์ขัดข้องนำเครื่องบินร่อนลง ชนกอไผ่ ด้านเหนืออำเภอ ชุมแสง เล็กน้อย เครื่องบินหกคะเมนหงายท้อง นักบินมุดออกทางช่องใต้ท้อง กลับมาโดยปลอดภัย ส่วนเครื่องบินเสียหายเล็กน้อย เจ้าหน้าที่ช่างเดินทางไปถอดชิ้นส่วนสำคัญเช่น ปืนกล และ เครื่องวัดประกอบการบิน ส่วนที่เหลือทิ้งไว้ *5
                โดยปกติเครื่องบินข้าศึกจะเข้ามาทิ้งระเบิดกรุงเทพในเวลากลางคืน เวลาประมาณ 22.00-24.00 นาฬิกา กว่าจะรู้ตัวต่อเมื่อเสียงเตือนภัยดังขึ้น เสียงหวอครางอย่างโหยหวนอาคารบ้านเรือนต้องปิดไฟให้หมดพระนคร และ บริเวณใกล้เคียงตกอยู่ในความมืด นักบิน ช่างเครื่อง และ ช่างอาวุธ จะต้องฝ่าความมืดไปที่เครื่องบิน นักบินต้องพาเจ้านกกระจอกวิ่งขึ้นท่ามกลางความมืดมิด อาศัยความชำนานอย่างเดียว วิ่งขึ้นไปแล้วหาเครื่องบินข้าศึกเอาเอง อาศัยความช่วยเหลือจากทางไหน เพื่อชี้ที่หมายไม่ได้เลย หอบังคับการบินก็ไม่มี จะติดต่อระหว่างเครื่องบินเครื่องอื่นๆ หรือ ติดต่อกับทางพื้นดินก็ไม่ได้เพราะไม่มีวิทยุ ที่ไม่ชนกันกลางอากาศก็เป็นบุญแล้ว ถ้าบังเอิญไฟฉายจากพื้นดินจับเครื่องบินทิ้งระเบิดข้าศึก และ อยู่ไม่ไกลนักก็อาจบินเข้าไปใกล้ๆได้ แต่ต้องระวังเครื่องบินข้าศึกมีปืนกลรอบตัว นอกจากนั้น ปตอ. ที่ไม่เคยยิงถูก ถ้าเกิดฟลุ้กขึ้นมาโดนเครื่องบินฝ่ายเราก็ซวยไป เมื่อเครื่องบินขับไล่ของเราบินขึ้นไปแล้ว จะขัดข้องอย่างไรก็กลับมาลงสนามไม่ได้มองสนามไม่เห็นต้องบินจนกว่าสัญญาณหวอหมดอันตราย นักบินไม่ได้ยินเสียงหวอ หรอกทราบได้จากเห็นไฟตามบ้านเรือนข้างล่างสว่างไสวจึงนพเครื่องบินเข้าหาสนามบินดอนเมือง  การให้สัญญาณไฟขอบสนาม และ กำหนดจุดลง ก็ทุลักทุเลเต็มที เจ้าหน้าที่ต้องนำตะเกียงรั้วไปวางเป็นระยะๆ ตะเกียงรั้วดวงหนึ่งต้องมีเจ้าหน้าที่ดวงหนึ่ง พร้อมด้วยปี๊ปน้ำมันก๊าดเปล่าเปิดฝาข้างหนึ่งสำหรับครอบปิดแสงในกรณีเครื่องบินข้าศึกหวนกลับมาอีก คนคุมตะเกียงรั้วต้องระวังตัวให้ดีเวลาเครื่องบินของเรากำลังลง เตรียมตัวหลบเมื่อเครื่องบินเซมาหา
                เมื่อเครื่องบินของเรากลับมาลงครบแล้ว ช่างเครื่องและช่างอาวุธตรวจดูความเรียบร้อยเพื่อใช้เป็นเครื่องเตรียมพร้อมต่อไป เพราะมีจำนวนจำกัดไม่มีเครื่องผลัดเปลี่ยน น้ำมันเชื้อเพลิงต้องรีบเติมให้เต็ม วิธีเติมน้ำมันใช้สูบมือสูบจากถัง 200 ลิตร ซึ่งไม่ค่อยทันใจนัก บางที่ต้องถ่ายใส่ปี๊ปยกเทใส่เอาดื้อๆก็มี จะได้กลับไปหลับนอนต่อไป ทีนี้ถ้าเครื่องบินของเรายังกลับไม่หมด จะเป็นตายร้ายดีหรือไปหลงอยู่ที่ไหน ไม่มีทางทราบได้เลยอย่างที่ว่าติดต่อกันไม่ได้ มีอีอวิธีหนึ่งไปเข็นรถไฟฉาย ซึ่งมีอยู่คันหนึ่งออกมาเปิดไฟหมุนรอบๆ ให้นักบินที่อยู่ระยะไกลเห็น โดยปกตินักบินสมัยนั้นถ้าจับลำน้ำเจ้าพระยาได้ บินมาเหนือ อ้อมเกร็ด (ตรงนั้นเป็นเกาะเห็นได้ชัด) แล้วตั้งเข็ม 90 องศาผายลมไม่ทันหายเห็มนก็ถึงสนามบินดอนเมือง ในการเปิดไฟฉายหมุนรอบๆครั้งหนึ่งได้ผล เมื่อ จอ. สง่า เฉลียวพจน์ อาศัยไฟฉายที่ว่ากลับมาลงเป็นคนสุดท้ายได้
อีกคืนหนึ่ง ทำยังไงๆ รต. สุรเชษฐ์ วีรพันธุ์ *6 ก็ไม่ยอมนำนกกระจอกกลับรัง ปรากฎว่าบินตาม บี24 ไปจนเครื่องยนต์ขัดข้อง นำเครื่องบินร่อนลงสุ่มสี่สุ่มห้าไปอย่างนั้นเอง ชะตายังไม่ถึงฆาต เครื่องบินชนพุ่มไม้เล็กๆห่างตัวเมือนราชบุรีไปทางตะวันตกเล็กน้อย เดรื่องบินหงานท้องเช่นเดียวกับ รต.หิรัญฯ ลงที่อำเภอชุมแสง รุ่งเช้า รท. เทิดศักดิ์ พร้อมด้วยช่างเครื่องนำ เครื่องบินแบบ 23 คอร์เซร์ (ปัจจุบันเรียก จ.1) ไปรับกลับดอนเมือง
                หลังจากทำหน้าที่รักษาพระนครอยู่ประมาณ 3 เดือน ก็ไม่สามารถตานทางหรือยับยั้งการทิ้งระเบิดของข้าศึกได้ เนื่องด้วยที่ทราบกันอยู่ คือสมรรถนะเครื่องบินไม่ดีนัก อุปกรณ์เดินอากาศไม่สมบูรณ์พอ และ จำนวนเครื่องบินก็เหลือน้อยไม่มีการสับเปลี่ยนกัน ปลายปี 2486 กองทัพอากาศได้ซื้อเครื่องบินขับไล่ที่มีสมรรถนะเหนือกว่า เครื่องบินแบบ 15 จำนาน 24 เครื่อง เป็นเครื่องบินที่สร้างในประเทศญี่ปุ่น เครื่องบินขับไล่ที่ซื้อใหม่นี้มีชื่อว่า ฮายาบูซะ
                ฮายาบูซะ โตกว่านกกระจอกทุกส่วนตั้งแต่ ลำตัว ปีก หาง เครื่องยนต์มีกำลังสูงกว่าความเร็วมากกว่า อาวุธประจำตัวเครื่องบินมีปืนกลอากาศก็ใหญ่กว่า ขนาด 20 มม.สองกระบอก *7 ระบบการทำงานหลายอย่างใช่ไฮดรอลิคซ์ การติดเครื่องยนต์ใช้ได้ทั้งการหมุนสตาร์ดด้วยมือ และ ใช้รถยนต์หมุนเครื่องยนต์โดยเฉพาะซึ่งเราเรียกว่ารถหมุนใบพัด รุหมุนใบพัดนี้คล้ายกับรถปั่นจั่นขนาดเล็กมีคานยื่นออกมาท้ายรถ เวลาจะติดเครื่องเครื่องบิน ก็ถอยรถเอาคานซึ่งปลายเป็นฟันจ่อเข้ากับฟันที่ดุมใบพัดเมื่อสวมเข้ากันเรียบร้อยแล้วก็เข้าเกียร์จากเครื่องรถยนต์ คานอันนั้นก็จะหมุนพาใบพัดเครื่องบินหมุนตามไปด้วย จนเครื่องยนต์ติด และ หมุนเร็วกว่าก็จะผลักคานอันนั้นหลุดจากใบพัดเครื่องบินอัตโนมัติ
                ทางราชการขึ้นทะเบียน ฮายาบูซะ เป็นเครื่องบินแบบ 14 (ปัจจุบันเรียก บข.13) เครื่องบินแบบ 14 ทั้งหมดบรรจุประจำการใน บน. 95 ฝูง 15 ทำหน้าที่รักษาพระนครแทนเจ้านกกระจอก นกกระจอก หรือ เครื่องบินแบบ 15 ซึ่งเหลืออยู่ 5-6 เครื่องถูกย้ายกลับคืนถิ่นเดิม บน.85 ฝูง 15 คราวนี้ได้ผู้บังคับฝูงคนใหม่คือ รอ. เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ซึ่งต่อมาได้สร้างเกียรติประวัติให้ปรากฎแก่สายตาชาวลำปางด้วยการขึ้นประจัญบานกับฝูงบิน พี 38 (ล้อกฮีดไลท์นิ่ง) ของข้าศึกรายละเอียดการประจัญบานกลางอากาศครั้งนั้น ได้มีผู้เขียนลงในหนังสือข่าวทหารอากาศมาแล้ว บน.95 ฝูง 15 ได้รับเครื่องบินแบบ 14 จำนวนมากถึง 24 เครื่อง จำเป็นต้องบรรจุกำลังพลให้เพียงพอ ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ชุดเดิมเกือบทั้งหมด แล้วได้ย้ายนักบินมาเพิ่มเติมอีกเช่น รต. ศักดิ์ อินทปุระ รต.มรว.ปรียะ จักรพันธุ์ พออ.วิเชียร บูรณเรข จท. ผดุง องค์สิงห์ เป็นต้น ช่างเครื่องช่างอาวุธ และ เจ้าหน้าที่อื่นๆ ได้รับการสนับสนุนจาก โรงเรียนการบิน และ กรม โงงานทหารอากาศ เมื่อได้รับ เครื่องบินแบบใหม่ ได้เปิดอบรมทั้งนักบิน ช่างเครื่อง และ ช่างอาวุธ นายทหารญี่ปุ่นเป็นผู้อบรม ห้องเรียน หรือ ห้องอบรมใช้เต้นท์เตรียมพร้อม ของญี่ปุ่นริมทางวิ่งด้านตะวันออก ในการอบรมได้จ้างคนไทยที่รู้ภาษาญี่ปุ่นคนหนึ่ง ทำหน้าที่ล่าม พวกเราเรียกแกลับหลังว่า ล่ามโซ่ เพราะแกปแลศัพท์เกี่ยวกับการบิน และ ช่างไม่ค่อยถูก แต่โทษแกก็ไม่ได้ศัพย์เทคนิคคนที่ไม่มีความรู้ทางนี้จะแปลให้ตรงกับที่เราใช้อยู่เป็นของไม่ง่ายนัก
                นักบินของเราที่เข้าห้องเรียนอบรม การใช่เครื่องบิน ฮายาบูซะ ทุกคนล้วนแต่ เป็นนักบินขับไล่ชำนาญมาแล้ว เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้วก็สามารถทำการบินกับเครื่องบินใหม่นี้ได้โดยไม่ยากนักต่อไปก็ฝึกหาความชานาญเอาเอง
                ทางฝ่ายการช่างแม้ว่าสามารถปฎิบัติงานกับเครื่องบินได้แล้วก็ตามฝ่ายญี่ปุ่นได้ส่งช่างเตรื่องของเขามาเป็นที่ปรึกษา ทำงานร่วมกันวันละ 2-3 คน ซึ่งได้ประโยชน์ด้านบูรณะรักษาเครื่องยนต์เครื่องบิน นอกจากนั้นได้รับการสนับสนุนเรื่องอะไหล่การใช้รุหมุนใบพัดและรถเติมเชื้อเพลิง เจ้าหน้าที่ของเราไปติดต่อได้ถึงคลังพัสดุ และ โรงซ่อมของญี่ปุ่นได้โดยสดวกบางที่เลยไปถึงโรงแบ็ตเตอรี่ใกล้ๆ ที่พักเชลยศึก ช่องทางที่ญี่ปุ่นคุมเชลยศึกทั้งฝรั่งและแขกเดินเข้าออก ต่อมาชาวบ้านเรียกว่า ช่องทางอินเดีย เดี๋ยวนี้ทางราชการตั้งชื่อว่าช่องทางดินแดง 3 แต่ส่วนมากยังเรียกว่าช่องทางอินเดียอยู่
                ในระหว่างที่ รอ.โชติ ชินะศิริ เป็นผู้บังคับฝูง 15 ได้นำ ฮายาบูซะ ขึ้นขัดขวางการทิ้งระเบิดของเครื่องบินข้าศึก บี24 ในเวลากลางคือหลายครั้ง แต่ คืนหนึ่งปลายปี 2486 ขณะบินอยู่เหนือกรุงเทพมหานคร เครื่องยนต์ขัดข้อง รอ. โชติ ต้องบังคับเครื่องบินลงนอกสนาม ท่ามกลางความมืดบริเวณถนนพระราม 4 ระหว่างสวนลุมพินีกับคลองเตย เครื่องบินชำรุด แต่คุณพระคุ้มครองท่าน ไม่ได้รับอันตรายร้ายแรงแต่ประการใด ปลายปี 2487 ทางราชการได้ย้าย รอ. ประสงค์ คุณะดิลก จากฝูง 43 มาเป็น ผบ.ฝูง 15 แทน รอ.โชติ ผบ. ฝูงคนใหม่เป็นหนุ่มโสด รูปร่างสมาร์ท และ สนใจการเล่นกีฬาเป็นอย่างมาก ประกอบกับระยะหลังนี้ เครื่องบินข้าศึกมาทิ้งระเบิดกรุงเทพลดลง ดังนั้นท่านจะนำผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ว่าหนุ่มน้อยหรือหนุ่มมาก ออกกำลังกายเป็นประจำ สิ่งที่ท่านเกลียดที่สุดคือ การเบียดบังของราชการไปเป็นประโยชนะส่วนตัว และ การลักโขมย ทหารประจำการที่ชอบโขมย ท่านเรียกมาสอบสวนจนเข็ดหลาบ ระหว่างที่มีการบินกลางคืนบ่อยๆนั้นเอง ฝูงบิน 15 มีกิจกรรมพิเศษอย่างหนึ่ง คือ การแสดงภาพยนต์ โดยแผนกภาพยนต์ทหารอากาศ ได้ทำการสร้างภาพยนต์ขึ้นเรื่องหนึ่ง ให้ชื่อว่าบินกลางคืน” *8กำกับการแสดงโดย นาย อำนวย กลัสนิมิ (เนรมิต) ผู้แสดงนำฝ่ายชาย หรือ พระเอกได้แก่ รอ.ศิริชัย วาทิน แสดงเป็น นักบินฝูงบินรักษาพระนคร นำเครื่องบินฮายาบูซะขึ้นต่อสู้กับเครื่องบินข้าศึก ฉากการแสดงหลายตอนได้ถ่ายทำกลางแจ้งบริเวณฝูง 15 เจ้าหน้าที่ฝูง 15 หลายนายพลอยติดร่างแหแสดงเป็นตัวประกอบไปด้วย ภาพยนต์เรื่องนี้ ได้โฆษนา และ จะเข้าฉายที่โรงภาพยนต์เฉลิมกรุง แต่แล้วเพราะเหตุผลกลใดไม่ทราบผลสุดท้ายไม่ได้นำออกฉายให้ชมกัน*9 เลยไม่ได้ดูบทบาทนักบินคนที่ 2 ของกองทัพอากาศ ว่าพอจะเทียบกับพระเอกเรื่อง บ้านไร่นาเราได้แค่ไหน
                ตามที่กล่าวมาแล้วทางฝ่ายช่างของเรา ได้รับการช่วยเหลือเรื่องรถหมุนใบพัด และ รถเติมเชื้อเพลิงจากญี่ปุ่น เวลาเราต้องการก็โทรศัพท์ขอไป เขาจะส่งมาให้เราทุกครั้ง วันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุ เรียกว่า 1 ใน 100 หรือ 1 ใน 1000 ก็ได้ คือว่าเมื่อรถหมุนใบพัดของญี่ปุ่นเสร็จจากการช่วยติดเครื่องยนต์ บ. แบบ 14 แล้วก็ขับรถกลับไปตามถนนสายกลาง ขณะที่รถแล้นไปถึงหัวสนาม เป็นเวลาเดียวกับ เครื่องบินแบบ 23 จอ. พลัง เพชรน้ำขียว เป็นนักบิน มาจาก บน.2 โคกกระเทียมกำลังร่อนลง ล้อเครื่องบินชนเอาหลังคารถตรงที่นั่งคนขับรถหมุนใบพัดพลิกตะแคงทับญี่ปุ่นคนขับผู้ซึ่งถึงที่ตาย หรือ ยังไปไม่ทันถึงที่ตายเสียก่อนก็ได้ สมองเละ ส่วนเครื่องบินกระโจนข้ามไปฟุบอยู่ข้าสนามบิน เครื่องบินชำรุดตามระเบียบ แต่ นักบินกับผู้โดยสารอีก 2 คนกระโดดออกมายืดแข้งยืดขาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ลองถาม นอ. ประสิทธิ์ แจ้งเจนกิจ หรือ นอ. อรุณ ยงเยี่ยงงาม ว่าวันนั้นมีของดีอะไรติดตัวมาด้วยจึงแคล้วคลาด รับใช้ชาติได้จนถึงบัดนี้
                24 กรกฎาคม 2487 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และ คณะรัฐบาล ลาออก เนื่องจากแพ้มติ สภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับเรื่องพระราชกำหนด นครบาลเพรชบูรณ์ นาย ควง อภัยวงศ์ อดีตรัฐมนตรี คมนาคมในคณะรัฐบาลจอมพล ป. ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และ จัดตั้งรัฐบาลใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2487
                การทิ้งระเบิดของ เครื่องบิน บี 24 ของข้าศึกในเวลากลางคืน ไม่ค่อยลงถูกที่หมายทางยุทธศาสตร์นี้เท่าใดนัก ราษฎรที่อยู่ใกล้เคียงที่หมายเหล่านั้นต้องรับเคราะห์แทน บ้านเรือนทรัพย์สินเสียหาย และ บาดเจ็บล้มตายคราวละมากๆ ประมาณกลางปีพ.ศ. 2487 เป็นต้นมา ข้าศึกเปลี่ยนยุทธวิธีมาทิ้งระเบิดในเวลากรุงเทพฯ เป็นเวลากลางวัน คราวนี้ใช้เครื่องบิน บี 29(ฟลายอิ้งฟอร์เทรส) *10 เข้ามาทีละฝูงประมาณ 9 เครื่อง การทิ้งระเบิดกาลงวันได้ผลดีปรากฏว่าย่านสถานีรถไฟบางกอกน้อยเสียหายยับเยิน สะพานพระราม 6 ใช้การไม่ได้ เกือบทุกครั้งที่เครื่องบินข้าศึกเข้ามาทิ้งระเบิดกรุงเทพมหานคร พล.อ.ต ฟื้น รณนภากาศฤทธาคนี รองแม่ทัพอากาศ จะมาที่ฝูง 15 สั่งการด้วยตนเองประจำ
18 พฤศจิกายนต์ 2487 เครื่องบิน บี29 ฝูงหนึ่งเข้ามาโจมติกรุงเทพฯอีกครั้งหนึ่ง ฮายาบูซะ 4-5 เครื่องวิ่งขึ้น วันนั้นช่างเครื่องต้องหมุน สตาร์ทเตอร์ ติดเครื่องยนต์เอง เพราะโทรศัพท์เรียกรถหมุนใบพัดของญี่ปุ่น ไม่มีใครมารับสายเลยคงหลบภัยลงหลุมกันหมด และ เป็นคราวเคราะห์ของ จต. ช้อย เสมสว่าง หมุน สตาร์ทเตอร์ เสร็จแล้วรีบร้อนเดินออกมาท่าไหนก็ไม่ทราบ โดนใบพัดเครื่องบินตัดหัวแม่มือข้างหนึ่งขาดกระเด็น โชคดีที่ตัดแค่หัวแม่มือ เดี๋ยวนี้ยังทำงานอยู่ที่กองการซ่อม กรมช่างอากาศหรือเปล่าไม่ทราบ หลังจาก ฮายาบูซะ วิ่งขึ้นไม่นานนัก ท่านรองแม่ทัพได้มาที่ฝูง 15 อย่างเคย บี29 เข้ามาวันนี้เห็นได้ชัดว่า จงใจถล่มย่านสถานีรถไฟบางซื่ออย่างเดียว โดยการบินวนเวียนปล่อยลูกระเบิดลงมาเป็นชุดๆ ชุดแล้วชุดเล่า เรียกว่าปูพรมกันเลย เสียงระเบิด และ ความสั่นสะเทือนถึงดอนเมือง ทุกครั้งที่เสียงระเบิดดังขึ้น ท่านรองแม่ทัพแสดงออกมาทั้งกาย และ วาจา ด้วยความเป็นห่วงชีวิตคนไทย ที่ต้องบาดเจ็บล้มตายจากลูกระเบิดเหล่านั้น เครื่องบิน แบบ 14 ของเราเมื่อวิ่งขึ้นไปแล้วก็ต่างตนต่างไป ไม่มีการติดต่อกันเพราะเครื่องมือสื่อสารไม่มีอย่างที่พูดไว้แล้ว บางเครื่องบินไปพักใหญ่ๆ เข้าใจว่าเครื่องบินข้าศึกกลับไปแล้ว นักบินได้นำเครื่องบินกลับมาลง ท่านรองแม่ทัพเห็นเครื่องบินของเรากลับลงมา ทั้งๆที่ บิ 29 ยังคงบินวนเวียนอยู่ ถามจ่าอากาศที่อยู่ใกล้ๆว่าเครื่องนั้นใครเป็นนักบิน พอรู้ว่าเป็น รท. เทิดศักดิ์ฯ ท่านตระโกนว่าไอ้เทิดศักดิ์...เทิด...ไปถามมันซิว่ามันลงมากิน...หรือ จ่าอากาศคนนั้นก็วิ่งปุเลงปุเลงไปที่เครื่องบินซึ่งยังไม่ทันดับเครื่องพูดด้วยเสียงดังว่า หมวดครับ ท่านสั่งให้ขึ้นไปอีก (ไม่ยักถามว่า ลงมากิน...หรือ อย่างที่ท่านแม่ทัพสั่ง รต.มรว.ปรียะฯ อีกคนที่ลงมาแล้วถูกไล่ให้ขึ้นไปอีก ต่อมาอีกสักครู่เห็น ฮายาบูซะ เครื่องหนึ่งไล่ติดตาม บี29 ทั้งฝูงโฉบไปโฉบมาเข้ายิง บี29 ฝูงนั้น กระสุนแสงฟุ่งเป็นทางเข้าใจว่าคงถูก บี29 บ้าง เห็นแตกฝูงไปหน่อยหนึ่ง แล้วกลับมารวมตัวเกาะหมู่บินต่อไปเหมือนทองไม่รู้ร้อน ฮายาบูซะยังคงติดตาม แต่ ไม่กล้าเข้าใกล้นัก บี29 ซึ่งมีฉายาว่าป้อมบินแต่ละเครื่องมีปืนกลรอบตัว บินมาเป็นหมู่ด้วยแล้วยากที่เครื่องบินขับไล่เครื่องเดียวจะทำอะไรได้ พรรคพวกที่ดอนเมืองยืนดูด้วยความเป็นห่วง เมื่อเข้ายิงจนหมดกระสุนแล้วนักบินผู้กล้าหาญของเราก็นำเครื่องบินกลับมาลงสนามได้ดดยปลอดภัย เขาผู้นั้นคือ พอต. วิเชียร บูรณเรช นั้นเอง
                การทิ้งลูกระเบิดย่ายสถานีรถไฟบางซื่อในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2487 นั้นทำให้รถไฟเสียหายมากที่สุด ทางรถไฟขาดเป็นหลุมเป็นบ่อทั่วไป รถโบกี้ และ รถสินค้าเกยก่ายกันระเนระนาด หัวรถจักรที่อยู่ในโรงรถ และ อยู่กลางแจ้งมุดหัวลงไปในดินเจ้าพนักงาน และ คนงานรถไฟเสียชีวิตหลายคน
                แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่ง จ่าวิเชียรฯ ผู้กล้าหาญของเราได้นำ ฮายาบูซะ คู่ชีพขึ้นฝึกดจมตีเป้าพื้นดิน เรายืนดูเขาพลิกตัวในระยะสูงเหนือสนามบินดอนเมือง แล้ว ดำลงมาจนได้ระยะพอสมควรเขาเริ่มดึงคับบังคับเครื่องบินเกือบอยู่ในท่าระดับแต่ช้าไปนิดนึงเครื่องบินตกท้องช้างลำตัวฟาดเปรี้องกับพื้นทางวิ่งเสียงดังสนั่น จ่าวิเชียรฯ จบชีวิตไปในเสี้ยววินาทีนั้นเอง นรชาติวางวายมลายสิ้นทั้งอินทรี่ย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดีประดับไว้ในโลกา
                ปลายเดือน พฤศจิกายน 2487 รท.เทิดศักดิ์ฯ ได้นำ ฮายาบูซะ คู่ชีพ ขึ้นไล่ยิง บี29 ที่เข้ามาทิ้งระเบิดกรุงเทพมหานคร อย่างกระชั้นชิดโดยไม่กลัวศักดิ์ศรีป้อมบิน ซึ่งมีจำนวนเหนือกว่ามาก เรายิงเขาบ้าง เขายิงเราบ้างก็อย่างว่านั่นแหละ น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ ฮายาบูซะ ของ รท. เทิดศักดิ์ ถูกยิงไฟไหม้กลางอากาศกว่าจะโดดร่มชูชีพออกมาได้ก็ถูกไฟลวกมือขวาถลอกปอกเปิด ร่มชูชีพได้นพ รท. เทิดศักดิ์ฯ ลงกลางป่าเมืองกาญจนบุรี กลับมาได้โดยปลอดภัย และ มีแผลเป็นที่ระรึกจนตลอดชีวิต อย่างไรก็ตามฝูง 15 ที่ประกอบไปด้วยเครื่องบินแบบ 14 หรือ ฮายาบูซะ ก็ไม่สามารถรักษาพระนครให้รอดพ้นไปจากการโจมตีของข้าศึกได้ เช่นเดียวกับเครื่องบินแบบ 15 หรือ คิวนานา หรือ เจ้านกกระจอก ปฏิบัติมาแล้ว ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ผมขอนำคำกล่าวของลูกช้างที่เขียนไว้ในข่าวทหารอากาศ ปีที่ 33 ฉบับที่ 3 ประจำเดือน มีนาคม 2516 ซึ่ง ว่าไว้ว่า อันการต่อสู้ทางอากาศนั้น มิใช่แต่ฝีมือบิน และ ความกล้าหาญเท่านั้นก็หาไม่ สิ่งสำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด คือ สรรมถนะของเครื่องบิน ซึ่งถ้าแตกต่างกันอย่างเทียบกันไม่ได้แล้ว ก็ไม่มีโอกาศเอาชนะฝ่ายที่มีสมรรถนะสูงได้
                ตั้งแต่ปลายปี 2487 เป็นต้นมา เสรีไทยนอกประเทศได้เดินทางเข้ามาปฎิบัติการในประเทศไทยมากขึ้น นักเรียนทุนทหารอากาศที่ทางราชการส่งไป ศึกษาใน สหรัฐฯ ตั้งแต่ก่อนสงครามก็กลายเป็นเสรีไทย ได้มาปรากฎตัวที่สโมสรทหารอากาศหลายคน ฝูง 15 ก็ต้องมีภารกิจใหม่คราวนี้ไม่ใช่เพียงรักษาพระนคร แต่ช่วยรักษาประเทศไทยทั้งประเทศ โดยทำหน้าที่เสรีไทยปด้วย คือทำหน้าที่รับเสรีไทย และ ทหารสหรัฐฯ ส่วนมากมากับเครื่องบินแบบ 23 จาก บน.5 ประจวบคีรีขันธ์ และ จัดส่งขึ้นรถยนต์ที่คอยอยู่แล้วเข้ากรุงเทพ เสรีไทยที่เป็นคนไทยไม่ค่อยมีปัณหาเท่าไร ถ้าเป็นอเมริกันแล้ว ต้องระวังไม่ให้ญี่ปุ่นที่มาทำงานเป็นที่ปรึกษาเห็น โดยการปลอมเป็นคนไทย ลงชื่อผู้โดยสารเป็นคนไทย อยู่ๆก็ไปโผล่ที่กรุงเทพเหมือนดำดินมา ถึงตอนนี้ทำให้นึกถึงขอมดำดินซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือพระร่วง มีข้อความว่าแล้วแต่งกายให้เหมือนคนไทยเล็ดลอดลอดไปสมถวิล ลี้ลับเหมือนดำดินครับ! คราวนี้เป็นฝรั่งดำดิน นอกจากนี้ทางราชการได้มีคำสั่งลับให้นักบินฝูง15จำนวน 4 นาย เดินทางออกนอกประเทศเพื่อปฎิบัติการด้านเสรีไทย นักบินทั้ง 4 นายได้แก่ รท.เทิดศักดิ์ วรทรัพย์ รต.ศักดิ์ อินทปุระ จอ.ประคอง อายนะบุตร์ และ จอ.สง่า เฉลียวพจน์ นักบินเหล่านี้แอบเดินทางออกจากกรุงเทพโดยทางเรือไปยังแหลมผักเบี้ยเพชรบุรี แล้วขึ้นเครื่องบินเดินทางต่อไป เรื่องการเดินทางไป ที่ไหน อย่างไร ไม่ทราบว่า พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ เขียนไว้ที่ไหนบ้างแล้ว ถ้าใครอยากทราบกรุณาถามท่านเองดีกว่า เพราะท่านเป็นหัวหน้าไปกับเครื่องบินเที่ยวนี้ด้วย
                นักบินที่ปฎิบัติการนอกประเทศ มีหน้าที่ช่วยเหลือนักบินอเมริกันนำเครื่อลบินบรรทุกผู้โดยสาร อาวุธ และ พัสดุอื่นๆ มาลงที่ สนามบินภูเขียว จังหวัด ชัยภูมิ ต่อจากนั้นก็ใช้เครื่องบินไทยลำเลียงต่อ โดยมากใช้เครื่องบินแบบ 41 มาร์ติน (บท 1) นำมาส่งที่สนามบินดอนเมือง และ เป็นหน้าที่ของฝูง 15 คอยรับโดยไม่ให้ญี่ปุ่นเห็น บางที่พอเครื่องบินแบบ41 หรือ เครื่องบิน มาร์ติน มาถึงก็เข็นเข้าโรง แล้ว ปิดประตูทันที
ฝูง 15 มีหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง คือ รับผิดชอบเครื่องบินประจำตัวของ พล.อ.ท. หลวง เทวฤทธิ์พันลึก ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ หัวหน้าเสรีไทยฝ่ายทหารอากาศ สำหรับเดินทางไปตรวจราชการตามกองบิน และ ฝูงบินต่างๆ เครื่องบินที่ผบ.ทอ.ใช้เป็นประจำได้แก่ เครื่องบิน แบบ 89 (บฝ 6) ซึ่งมีชื่อเดิมว่า คาวาซากิ *11
ตลอดเวลาสงครามมหาเอเชียบูรพาดอนเมื่องไม่เคยถูกทิ้งระเบิดเลย แต่มีอยู่คราวหนึ่งลูกระเบิดตกลง 2-3 ลูก กลางทุ่งนาทางตะวันตกของวัดดอนเมือง ห่างคลองเปรมประชากรไปหน่อยหนึ่ง ไม่มีใครได้รับอันตรายเข้าใจว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดตั้งใจปลดระเบิดที่เหลือทิ้งไปมากกว่าถ้าตั้งใจทิ้งระเบิดดอนเมืองจริงๆไม่ควรจะผิดพลาดห่างไกลไปขนาดนั้น และ ลูกระเบิดจะต้องทิ้งลงมามากๆ อย่างที่ทิ้งในกรุงเทพฯ การที่ข้าศึกไม่ทำลายสนามบินดอนเมืองคงจะเอาไว้ใช้ประโยชน์ในวันหน้า แม้ว่าสนามบินดอนเมืองจะไม้ถูกทิ้งระเบิด แค่ ก็ถูกเครื่องบินขับไล่มาโจมตี 2 ครั้งด้วยกันขออภัยผู้อ่านด้วยผมจำวันที่ไม่ได้*12 ครั้งหนึ่งประมาณตนเดือน เมษายน 2488 วันนั้น รต.ช่วย ศรีสมพงศ์ บินเครื่องบินแบบ 26 (จ.2) นำ นอ.หลวง เชิด วุฒากาศ จากลำปางมาส่งดอนเมือง เมื่อนอ.หลวง เชิดฯ ลงเรียบร้อยแล้ว เครื่องบินยังจอดอยู่หน้าเต๊นท์เตรียมพร้อมฝูง15 ศูนย์รวมข่าวโทรศัพท์แจ้งมาว่าเครื่องบินข้าศึกผ่านชัยนาท 4 เครื่อง แล้วเสียงหวอแจ้งภัยก็ดังขึ้น จต. พรต ชิตสุภาพ ช่างเครื่องฝูง 11 ซึ่งมารับส่งเครื่องบินแบบ 26 ที่สนามบินดอนเมือง กระโดดขึ้นบนเครื่องบินบอกให้ รต.ช่วยฯ รีบนำเครื่องบินไปจอดบนมูลดินปลายสนาม ขณะที่ รต.ช่วยฯ ขับเครื่องบินไปตามทางวิ่ง ครู่หนึ่งเครื่องบินขับไล่อเมริกัน พี 51 (MUSTANG) เข้ามาถึงดอนเมือง พอดี จต.พรตฯ บอก รต.ช่วยฯ ว่าฝรั่งมาแล้ว พร้อมกับกระโดดลงจากเครื่องบินไปลงหลุมหลบภัย เป็นเวลาเดียวกับ พี 51 เครื่องหนึ่งแยกหมู่สาดกระสุนใส่เครื่องบินรต.ช่วยฯ ไฟลุกไหม้ทันที รต.ช่วยฯจึงออกจากเครื่องบิน กระโดดลงทางชายหน้าปีกขณะเครื่องบินยังไม่ทันหยุดนิ่ง ถูกล้อขวาทับเท้านิดหน่อยวิ่งโขยกไปทางหลุดหลบภัยใกล้ๆรอดตายอย่างหวุดหวิด พี 51 เครื่องนั้นยังเลยไปยิงเครื่องบินแบบ 26 อีกเครื่องหนึ่ง ซึ่ง รต.สนั่น คฤหเดช บินจากลำปางมาเหมือนกัน แต่รต.สนันฯกำลังออกไปหาอะไรรับประทานอยู่ที่ตลาดหลังสถานีรถไฟเมื่อรู้ว่าเครื่องบินถูกยิงไฟไหม้รต.สนั่นบ่นว่าเสียดาย ไม่ทราบว่าเสียดายเครื่องบิน หรือ เสียดาย ยาเวอร์ยิเนีย หลายกิโลที่ยังอยู่ในเครื่องบินเครื่องนั้น พี 51 อีก 3 เครื่องแยกหมู่กระจายตรงเข้ายิงเครื่องบินญี่ปุ่นที่จอดเรียงรายอยู่ทางฝั่งสนามบินด้านตะวันออกไฟไหม้หลายเครื่อง พี 51 บินกลับมาพร้อมกับปล่อยกระสุนอีก 3 เที่ยว แล้ว เกาะหมู่บินลับไปทางตะวันตกวันนั้นเราเสียเครื่องบินแบบ 26 ไป 2 เครื่องอาคารบ้านเรือนถูกกระสุนเป็นรูๆทั่วไป กรรมกรตัดหญ้าสนามบินเสียชีวิตไปหนึ่งคน เครื่องบิน ฮายาบูซะ ปลอดภัยอยู่ในมูลดิน ผลเสียหายของฝ่ายญี่ปุ่น เครื่องบินที่จอดอยู่บนลานบินไฟไหม้หมด การเสียหายอย่างอื่นไม่ทราบ เมื่อเครื่องบินขับไล่ข้าศึกไปแล้ว ทหารประจำการ และ คนงานก็เที่ยวเก็บปลอกกระสุน 20 มม.*13 บริเวณสนามบินเอาไปขายช่วยเหลือค่าครองชีพได้คนละหลายบาท
ครั้งที่สอง ราวปลายเดือน เมษายน หรือ ต้นเดือน พฤษภาคม 2488 เครื่องบินขับไล่อเมริกัน พี 51 เข้ามาโจมตีสนามบินดอนเมืองแบบเดียวกับครั้งที่ 1 นักบินชุดเดียวกันหรือเปล่าไม่ทราบบินมาในระยะต่ำแล้วแยกหมู่ทำกทารยิง จากทางตะวันตกไปทางตะวันออก แล้ว ย้อนกลับมาเที่ยวนี้เองถูกคลังเชื้อเพลิงของฝูง 15 ซึ่งเก็บไว้ในมูลดินริมสนามบิน ไฟลุกไหม้ควันตลบไปทั้วบริเวณใกล้เคียง น้ำมันเชื้อเพลิง และ น้ำมันหล่อลื่นร้อยกว่าถังไม่เหลือเลย เที่ยวที่ 3 พี 51 ย้อนกลับมายิงจากทางตะวันตกไปทางตะวันออก เหมือนกับเที่ยวแรก เครื่องบินญี่ปุ่นไฟไหม้ควันพุ่งขึ้นเป็นแห่งๆ เที่ยวที่ 4 ยิงจากทางตะวันออกมาทางตะวันตก คราวนี้กระสุนถูกโรงเก็บชั่วคราวของเราใกล้ๆเต๊นท์เตรียมพร้อม ไฟไหม้จากหลังคาก่อน แต่ ยังไม่ทันไหม้เครื่องบิน ฮายาบูซะที่จอดอยู่ 2 เครื่อง ผบ.หมวดช่าง รอ.ศิลป์ โพธิแพทย์ กับ รองผบ.หมวดช่างที่หลบอยู่ใกล้ๆ ด้วยกำลังเพียง 2 คน รีบขึ้นจากหลุมหลบภัยช่วยกันเข็น เครื่องบินหนีออกจากไฟมาดืทั้ง 2 เครื่อง เมื่อเครื่องบินออกมาแล้วไฟยังคงลุกไหม้โรงเก็บมุงจากจนเป็นเถ้าท่าน การกระทำดังเกล่าวได้รับหนังสือชมเชยจาก ผู้บัญชาการทหารอากาศ มีข้อความตอนหนึ่งว่าการกระทำของบุคคลทั้งสองแม้ว่าจะกระทำตามหน้าที่ แต่ ได้กระทำด้วยความกล้าหาญเมื่อเห็นว่า เครื่องบิน พี 51 กลับไปแล้ว พวกหาผลพลอยได้ก็ออกมาเก็บปลอกกระสุนเช่นคราวก่อนอีก
ขณะที่เสรีไทยปฎิบัติการมากขึ้น สัมพันธมิตรมีชัย ทหารญี่ปุ่นเสียที่มั่นอยู่เรื่อยๆเกิดมีขบวนการซ้ำเติมตัดกำลังญี่ปุ่นขึ้น ผมเรียกขบวนการที่ว่านี้คือ ขบวนการไทยถีบ ขบวนการนี้ไม่ได้ตั้งเป็นคณะหรือสมาคมแบบอั่งยี่ สมาชิกขบวนการไทยถีบ ปฎิบัติการอิสระต่างคนต่างทำ ตั้งแต่ โขมยเล็กโขมยน้อย ไปจนถึง โขมยมากโขมยใหญ่ ถ้าเรียกตามกฏหมายก็คือ มุ่งประทุษรายต่อทรัพย์สินของญี่ปุ่นนั่นเอง วิธีการของขบวนการไทยถีบมาต่างๆกัน บางที่เดินสุ่มหาปลาไปเฉยๆ ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตรลองทวนน้ำไปด้วย(ใช้เชือกผูกรัดถันน้ำมันแล้วปล่อยให้ยาวแล้วผูกเอวไว้) บางที่นั่งซ่อมเรืออยู่กลางแม่น้ำ แกล้งทำสว่านไฟฟ้าตกน้ำ คนที่อยู่บนฝั่นดึงเชือกผูกสว่านไว้ก่อน แล้ว สว่านไฟฟ้าก็ขึ้นฝั่งไปเอง อีกวิธีหนึ่งคอย ผลัก หรือ ถีบ สิ่งของพัสดุ ที่ขนไปทางรถยนต์ให้พรรคพวกที่อยู่ข้างทางเก็บเอาไป บางครั้งคนขับรถก็รู้เห็นเป็นใจด้วย ปฎิบัติการไทยถีบที่เอิกเกริกเกรียวกราว คือการถีบลังใหญ่ๆที่ญี่ปุ่นส่งมาทางรถไฟ ลงใกล้ๆสถานีรถไฟท่าฉาง จังหวัดสุราษฏร์ธานี ปรากฎว่าของที่บรรจุอยู่ในลังเหล่านั้น เป็นธนบัตรใบละ 100 บาททั้งนั้น ยอดเงินเท่าไรผมไม่ได้นับ เอ๊ย! ผมไม่ทราบแต่ทราบว่าพวกไทยถีบแบ่งกันไปขายในราคาถูกๆทั่วปักษ์ใต้ แอบใส่ชะลอมทำเป็นเงาะหรือลังสาดส่งเข้ากรุงเทพก็มี ธนบัตรรุ่นนั้นจึงถูกจนานนามว่าแบ๊งค์ท่าฉางธนบัตรที่ว่ายังไม่มีลายเซ็น รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ผู้ที่ซื้อไปจะต้องประทับตราลายเซ็นรัฐมนตรีก่อนจึงจะใช้ได้ตามกฏหมาย เราจึงรู้ว่าญี่ปุ่นขี้โกงชมัด พี่แกไม่พิมพ์ธนบัตรให้เท่าที่เราจ้างพิมพ์ ความจริงรัฐบาลไทยรู้มานานแล้ว ว่าทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยเล่นไม่ซื่อ เอาอัฐยายซื้อขนมยาย รัฐบาลไทยแก้ปัณนาเงินเฟ้อด้วยการยกเลิก ธนบัตรใบละ 1,000  บาท และ ดูเหมือนจะลดค่าของใบละ 20 บาท เป็น 50 สตางค์ ด้วย
ในการที่ฝูง 15 และ คนไทยทั่วไปเข้าไปเกี่ยวพันกับเสรีไทย มิได้พ้นไปจากสายตาญี่ปุ่นทหารญี่ปุ่นบางคนถามเราว่า เราส่งนักบินของเราไปนอกประเทศทำไม เราปฎิเสธขอไปทีว่า ไม่ทราบ เขาหนีไปเอง ความระแวงสงสัยว่าเราจะเข้าโจมตี ญี่ปุ่นจึงได้เตรียมการป้องกันโดยทำมูลดินเล็กๆตั้งป้อมปืนเล็กๆไว้หลายจุดตลอดแนว บริเวณที่เป็นสนามกอล์ฟเดี๋ยวนี้ ขณะนั้นมีแต่หญ้าคาไม่มีต้นไม้ร่มรื่นอย่างปัจจุบัน รอ.ประสงค์ฯ ผบ.ฝูง 15 สั่งให้รอง ผบ. หมวดช่าง ไปสำรวจ และ ทำแผนที่พอเป็นสังเขป นอกจากมูลดินเหล่านั้นแล้ว ญี่ปุ่นยังสร้างหอยาม ขนาดและความสูงคล้ายกับที่ทหารอากาศโยธิน สร้างไว้ใช้ในการฝึกที่ปลายสนามด้านใต้ขณะนี้ ป้อมปืนที่สร้างอย่างมั่นคงแข็งแรง ได้แก่ป้อมคอนกรีด หัวมุมถนนสายกลาง ใกล้ๆกับที่ซ้อมตีกอล์ฟเดี๋ยวนี้ ผบ.ฝูงให้จัดเวรยามในเวลากลางคืน ตรวจตลอกแนวของสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบของฝูง 15 แต่ก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในเวลากลางวันช่างของญี่ปุ่นยังปฎิบัติงานร่วมกับช่างของฝ่ายไทยอยู่ แม้ว่าญี่ปุ่นจะถูกฝ่ายสัมพันธมิครตีถอยร่นทุกแห่ง แต่ กองทัพญี่ปุ่นไม่ยอมแพ้ จนกระทั่ง อเมริกา ได้ทิ้งลูกระเบิดปรมณู ลงที่เมื่อง ฮิโรชิม่า ในวันที่ 6 สิงหาคม พศ. 2488 และ ที่เมือง นางาซากิ ในวันที่ 9 สิงหาคม 2488 ระเบิดปรมณูทั้งสองลูกทำให้เมืองทั้งสองทางภาคใต้ของญี่ปุ่นเสียหายยับเยิน ผู้คนล้มตายบาดเจ็บมหาศาล สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ฮิโรฮิโต จึงประกาศยอมแพ้โดยปราศจากเงื่อนไข เซ็นสัญญาสงบศึกยุติสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488
ในโอกาสใกล้เคียงกันนี้รัฐบาลไทย ประกาศแถลงการว่า การประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อ 25 มกราคม 2485 เป็นโมฆะ หลังจากสิ้นสุดสงคราม 2 วัน คณะนักบินฝูง 15 ที่ไปปฎิบัติงานด้านเสรีไทย ก็เดินทางกลับด้วยเครื่องบินอเมริกัน มาลงที่ดอนเมือง เข้ารายงานตัวต่อผบ. บน. 95 ฝูง 15 ตามระเบียบ ต่อมาทหารพันธมิตรก็ทยอยกันเข้ามา ทหารอังกฤษเข้าทำการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยไม่แตะต้องอาวุธของทหารไทยแต่อย่างใด ประเทศไทยคงเป็นไทย ตราบเท่าทุกวันนี้ เจ้าหน้าที่พร้อมด้วยเครื่องบินแบบ 14 หรือ ฮายาบูซะก็เข้าที่ตั้งปกติ คือ กองบินน้อยที่ 1 ฝูงบินที่ 3 เรื่องของฝูงบินรักษาพระนครก็ปิดม่านลงเพียงเท่านี้

บทวิจารณ์ และ คำบรรยายเสริมของ ผู้คัดลอก
*เข้าใจว่า ฝูงบินขับไล่รักษาพระนคร นี้จะมาจาก ภาพยนต์ที่ทาง ทอ. สร้างขึ้นมาในตอนนั้น แต่ ภายหลังไม่ได้ฉาย และ เรียกติดปากกันมาจนถึง หลังสงคราม ที่ฝูงนี้ประจำการด้วย สปิตไฟร์ ในปัจจุบันคือ ฝูง 103 กองบิน 1 โคราช นั่นเอง
*1 ผู้คัดลอก นำเรื่องมาจาก หนังสือ ข่าวทหารอากาศ ซึ่ง ผู้เขียนที่ใช้นามปากกาว่านายทองแดง เขียนไว้เมื่อ สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงได้ 30 ปี (ปี คศ.1975 พศ. 2519) ดังนั้นยศ และ นามของผู้ที่เกี่ยวข้องในบทความนี้อาจผิดเพี้ยนไปได้
*2 ท่านอาจหาข้อมูลได้จาก พิพิธพัณฑ์ ทอ. ดอนเมือง
*3 และ *4  คิว นา นา เซ็นโตกิ หมายถึง เครื่องบินขับไล่ แบบ 97 ซึ่งจะต้องเรียก บ. แบบนี้เต็มๆว่า ริคุกุน คิวนานา ชิกิ เซ็นโตกิ คิ 27 โอสึ ภาษาอังกฤษ ก็คือ อาร์มี่ไทป์97ไฟเตอร์ โอทสุ แปลเป็นภาษาไทยว่า เครื่องบินขับไล่ กองทัพบก แบบ 97 ปรับปรุงขั้นที่ 1  เข้าใจว่าผู้เขียน และ ทอ. ในสมัยนั้น ไม่เข้าใจในภาษาญี่ปุ่นเพียงพอ จึงข้ามไปหลายคำ และ เรียกย่อ จนบางครั้งจับใจความไม่ได้ และ มีการแต่งชื่อขึ้นมาเรียกเองเพื่อความสะดวก เช่น โอตะ โอตะสุ นกกระจอก หรือ เซ็นโตกิ โดย โอตะ นั้นคงเพี้ยนมาจาก โอสึ (OTSU) ในภาษาญี่ปุ่น ที่หากไม่เคยเรียนการออกเสียงแบบญี่ปุ่นจะเข้าใจว่าออกเสียงว่า โอ ทะ สุ ซึ่ง จะไปคล้ายกับคำว่า โอตะรุ ที่แปลว่า นกกระจอก คำว่า เซ็นโตกิ ก็แปลว่าเครื่องบินต่อสู้ หรือ บ.ขับไล่อยู่แล้ว แต่ ไม่ได้เจาะจงไปว่าเป็นแบบใด โดยคำว่า ชิกิ แปลว่า แบบ ในภาษาไทย หรือ ไทป์ ในภาษาอังกฤษ ติดตามรายละเอียดได้ในบทความเรื่อง การตั้งนามเรียกขานของอากาศยานญี่ปุ่น
*5 เข้าใจว่าในสมัยนั้น การกู้ซากเครื่องบินน่าจะทำได้ยาก เพราะขาดแคลนไปเสียทุกอย่าง ดังนั้น แม้เครื่องบินจะยังพอซ่อมได้(ดูจากเหตุการณ์การตกของเครื่อง) แต่ อาจไม่สามารถนำกลับมาที่ตั้งได้
*6 น่าสนใจว่า เป็น ญาติ หรือ เกี่ยวพันใดๆกับ หลวง พร้อม วีรพันธุ์ ผู้บังคับหารเรือหลวง ธนบุรี หรือเปล่า เป็นเรื่องที่น่าศึกษาต่อไป
*7 เข้าใจว่าผู้เขียนคงลืมเลือนไปตามกาลเวลา เพราะ ตามเสป็กของ ฮายาบูซะ แล้ว เป็นขนาด 12.7 มม. หรือ อาจสับเปลี่ยนเป็น 7.7 ได้หากต้องการ (ไม่ได้มีในสเป็กเครื่องฯ แต่ ช่างสามารถสับเปลี่ยนในสนามฯได้) โดย ฮายาบูซะ รุ่นที่เข้าประจำการใน ทอ. ไทยนั้น เป็นรุ่น คิ 43/2 มิด(กลาง) กับรุ่น เลท(สุดท้าย) ผสมกัน มา ไม่แน่ว่าอาจจะมีรุ่น เออรี่(แรก) มาด้วยหรือไม่ ดังนั้นขนาดของปืนจะต้องเป็น 12.7 เพราะผู้เขียนบอกว่า ปืนขนาดใหญ่กว่า คิ 27 (โอตะ) ซึ่งเป็น 7.7 มม. แต่ ฮายาบูซะที่ติดปืนขนาด 20 มม. สองกระบอกนั้นก็มีเหมือนกัน แต่ เป็น คิ 43/3 เลท(รุ่นสุดท้ายในซีรี่3) และ คิ 43/4(เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็น 2,000แรงม้า)เท่านั้นซึ่งเป็นตัวที่ญี่ปุ่นนำมาใช้ในช่วงไม่กี่เดือนก่อนสงครามฯจะสิ้นสุด
*8 ตรงนี้แหละครับเป็นที่มาของชื่อที่ชาวบ้านเรียก ฝูง 15 ว่าฝูงบินขับไล่รักษาพระนคร เพราะหนังเรื่องนี้โปรโมทก่อนฉายไว้แบบนี้
*9 เข้าใจว่า เหตุผลที่ไม่ได้ฉายนั้น เป็นเหตุที่ว่า ต้องทำลายฟีล์ม และ หลักฐานว่ามี บ. ญี่ปุ่นประจำการใน ทอ.ไทย เพราะ สัมพันธมิตรเข้ามา และ ไทยต้องทำให้เขาเชื่อว่าเราเข้ากับญี่ปุ่นเพราะจำเป็น สอดคล้องกับที่ว่า ภาพยนต์เรื่องนี้ เริ่มถ่ายทำในช่วงปี 1944 กว่าจะถ่ายทำ และ ตัดต่อคงต้องใช้เวลาพอสมควร กว่าจะพร้อมฉายก็น่าจะเกือบๆ1ปี ซึ่งก็เป็นช่วงปี 1945 พอดี  เป็นเวลาที่สงครามยุติ อย่างที่เราทราบกัน
*10 ช่วงเวลาสอดคล้องกับ การทดลองทิ้งระเบิดเที่ยวแรกของ บี-29 ซึ่งมีบันทึกไว้ว่าการทิ้งระเบิดเที่ยวแรกของ บี-29 นั้นได้ทดลองทิ้งฯที่ กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก
*11 บ.แบบ 89 หรือ บฝ.6 คือเครื่องบินฝึกแบบ ทาชิกาว่า คิ 36 หรือ 55 (รุ่นลาดตระเวน/ทิ้งระเบิด) ที่ออกแบบโดย บริษัท ทาชิกาว่า แต่ผู้เขียนใช้ชื่อว่า คาวาซากิ เข้าใจว่า น่าจะเป็น บ.ที่ คาวาซากิ ผลิตภายใต้ลิขสิทธิ์ ของ ทาชิกาว่า เพราะในเวลานั้นญี่ปุ่นต้องเร่งผลิตอาวุธเพื่อส่งไปเสริมในสมรถูมิต่างๆ ดังนั้นทางกองทัพจึงให้โรงงานผลิตเครื่องบินต่างๆผลิตเครื่องบินได้ทุกแบบโดยให้สอดคล้องกับความต้องการ และ เหมาะสม จึงมีการผลิต บ. ข้ามบริษัทผู้ออกแบบอยู่หลายแบบ เช่น ฮายาบูซะของไทยนั้น ผลิตจาก โรงงานของ ทาชิกาว่า โดย นากาจิม่า เป็นผู้ออกแบบ และ บ. ทิ้งระเบิด แบบ คิ-21 ของไทย กลับมาจากโรงงาน นากาจิม่า โดย มิตซึบิชิ เป็นผู้ออกแบบ รวมทั้ง คิ-27 ของไทย ก็มาจากโรงงานผลิตเครื่องบินใน แมนจูเรีย อีกด้วย
 *12 มีบันทึก ว.วัน.น. และ ฝูงบินของ พี-51ที่เข้ามาโจมตีดอนเมืองไว้ที่ พิพิธพัณฑ์ ทอ. ในหอเกียรติภูมิฯ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บริเวณที่ตั้งแสดง ซาก พี-51 และ คิ-43
*13 นี่ก็น่าจะเป็นความเข้าใจผิดของผู้เขียนอีกครั้ง เพราะ มีบันทึกไว้ว่า ในช่วงนั้น พี-51 ที่เข้ามาโจมติดอนเมือง สองครั้งนั้นเป็นรุ่น พิ-51 ดี (P-51D) ซึ่งเป็นรุ่นที่ติดปืนกลอากาศขนาด .50 นิ้ว หรือ 12.7 มม. 6 กระบอก ซึ่ง ไม่ใช่ มัสแตง รุ่นแรกสุด ที่ติด 20 มม. 2 กระบอก ตอนนั้น มัสแตง ยังไม่ใช้ระหัสว่า P เลยด้วยซ้ำ เพราะจริงๆแล้วมัสแตงถูกออกแบบมาเป็นเครื่องบินโจมตีสนับสนุนทางอากาศอย่างใกล้ชิด ก่อนจะได้เครื่องยนต์ เมอร์ลิน ของอังกฤษ และ เอาไปผลิตในประเทศอเมริกา เพื่อใช้กับ มัสแตง และพัฒนาจนมาเป็นรุ่น D ที่ว่านี้











                

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น